ประวัติสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย

พ.ศ.2554 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จดทะเบียนรับรอง สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย โดยมี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นนายกสมาคมอย่างเป็นทางกร ในฐานะองค์กรกีฬามวยสากลแห่งชาติ ภายใต้การเป็นสมาชิกของสหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (ไอบ้า) และสมาพันธ์มวยสากลแห่งเอเชีย (เอเอสบีซี) อย่างเป็นทางการ

พ.ศ.2555 สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ส่งนักมวยเข้าร่วมการแข่งขันมวยสากล ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 30 “ลอนดอน 2012” ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ อย่างเป็นทางการ ผลปรากฏว่า แก้ว พงษ์ประยูร ได้เหรียญเงินรุ่นฟลายเวต ท่ามกลางความไม่พอใจผลการตัดสินของฝ่ายไทย

พ.ศ.2557 สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย เลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ และได้ นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นนายกสมาคม ท่ามกลางปัญหาความไม่เข้าใจกัน และไม่พอใจกัน ระหว่างสมาคมกีฬามวยสากลฯ กับ “ไอบ้า” อย่างรุนแรง ทำให้ นายพิชัย ชุณหวชิร ต้องใช้เวลาแก้ไข ไกล่เกลี่ยปัญหาดังกล่าวอย่างหนักในช่วงแรกๆ จนทำให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และทุกอย่างเป็นไปด้วยดีมากขึ้นตามลำดับ

พ.ศ.2559 หลังจากทุกอย่างดีขึ้น ประเทศไทยเริ่มเป็นเจ้าภาพการแข่งขันมวยสากลชิงแชมป์แห่งเอเชียของ “เอเอสบีซี” และส่งนักมวยไปตระเวนแข่งขันรายการต่างๆ ในระดับนานาชาติของ “ไอบ้า” มากขึ้น ไทยส่งนักมวยเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 31 “ริโอ 2016” ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร บราซิล และประสบความผิดหวัง เมื่อนักมวยไทยไม่ได้เหรียญรางวัลใดๆ กลับมาเลยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

พ.ศ.2560 ถึง 2563 อย่างไรก็ตาม นายพิชัย ชุณหวชิร ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกสมาคมกีฬามวยสากลฯ อีกสมัยหนึ่ง พร้อมกับเป้าหมายต้องได้เหรียญมวยสากลกีฬาโอลิมปิกเกมส์ให้ได้ ดังนั้น สมาคมกีฬามวยสากลฯ ในยุคนี้ จึงเต็มไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ .....กิจกรรมในประเทศ อาทิเช่น การลงทุนเป็นเจ้าภาพมวยสากลไทยแลนด์ โอเพ่น หรือ “คิงสัคัพ” และมวยสากลไทยแลนด์ ซีรี่ส์ เป็นประจำทุกปี, การเป็นเจ้าภาพมวยสากลเยาวชน (ชาย-หญิง) ชิงแชมป์แห่งเอเชีย และมวยสากลประชาชน (ชาย-หญิง) ชิงแชมป์แห่งเอเชีย ของ “เอเอสบีซี” ฯลฯ .....กิจกรรมต่างประเทศ อาทิเช่น การลงทุนส่งนักมวยเยาวชนไทย ไปแข่งขันรายการต่างๆ ในทวีปยุโรป และประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นกวาดเหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬายูธ โอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 3 “บัวโนสแอเรส 2018” ที่กรุงบัวโนสแอเรส อาร์เจนติน่า ค.ศ.2018/พ.ศ.2561 ดังนี้ 2 เหรียญทองจาก อธิชัย เพิ่มทรัพย์ รุ่น 60 กิโลกรัม, พัณพัชรา สมนึก รุ่น 57 กิโลกรัม, 2 เหรียญเงินจาก ศราวุฒิ สุขเทศ รุ่น 52 กิโลกรัม, พรทิพย์ บัวป่า รุ่น 60 กิโลกรีม และ 1 เหรียญทองแดงจาก วีระพล จงจอหอ รุ่น 75 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังได้เหรียญรางวัลจากมวยสากลเยาวชนชิงแชมป์โลก ค.ศ.2018 ของ “ไอบ้า” ที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ค.ศ.2018/พ.ศ.2561 อีกด้วย โดยเป็นผลงาน 2 เหรียญทองของ ฐิติสรรณ์ ปั้นโหมด รุ่น 49 กิโลกรัม, อธิชัย เพิ่มทรัพย์ รุ่น 60 กิโลกรัม บวกกับ 1 เหรียญเงินจาก นีลดา มีคุณ รุ่น 48 กิโลกรัม และอีก 4 เหรียญทองแดง นอกจากนี้ ในด้านการบริหารงานระหว่างประเทศนั้น นายพิชัย ชุณหวชิร ได้บุกเบิกขึ้นเป็นรองประธานสมาพันธ์มวยสากลแห่งเอเชีย (เอเอสบีซี) และเป็นผู้นำของวงการมวยสากลแห่งภูมิภาคอาเซียน ก่อนจะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นกรรมการบริหารของสหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (ไอบ้า) อย่างเป็นทางการ ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับวงการมวยสากลไทย และนานาชาติอย่างเป็นกิจลักษณะ โดยมี พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา เลขาธิการสมาคมกีฬามวยสากลฯ เป็นกรรมการบริหารและรองประธานสมาพันธ์มวยสากลแห่งเอเชีย (เอเอสบีซี) ล่าสุด

พ.ศ.2563 เป็นปีแห่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 32 “โตเกียว 2020” อย่างเป็นทางการ แต่การแข่งขันต้องเลื่อนออกไปอีกปีหนึ่ง ด้วยอิทธิพลของโรคไวรัสโคโรน่า “โควิด-19” แม้ว่าการแข่งขันรอบคัดเลือกโซนเอเชียโอชีเนีย ค.ศ.2018 จะสิ้นสุดลงไปอย่างหวุดหวิด โดยมี 4 นักมวยไทยได้สิทธิเข้ารอบสุดท้าย “โตเกียว 2020” แล้ว ได้แก่ ฐิติสรรณ์ ปั้นโหมด, ฉัตรชัยเดชา บุตรดี, สุดาพร สีสอนดี และ ใบสน มณีก้อน เหลือการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับโลก อีกรายการหนึ่ง.

พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

นายพิชัย ชุณหวชิร

นายกสมาคมคนปัจจุบัน

จากข้อมูลความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคณะกรรมการบริหาร ทีมงาน ผู้ฝึกสอนตลอดจนนักกีฬา ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความสุขมาให้กับประชาชนคนไทย ตลอดจนชื่อเสียงของวงการกีฬาและประเทศชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 4 ครั้งติดต่อกัน นับตั้งแต่ปีมหามงคลกาญจนาภิเษก ที่ สมรักษ์ คำสิงห์ ได้เหรียญทองเป็นเหรียญแรกที่แอตแลนต้า วิชัย ราชานนท์ ได้รับเหรียญทองแดง และต่อมาในปี พ.ศ. 2543 วิจารณ์ พลฤทธิ์ ก็ได้รับเหรียญทอง ที่ซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย พรชัย ทองบุราน ได้รับเหรียญทองแดง ในปี พ.ศ. 2547 มนัส บุญจำนงค์ ได้รับเหรียญทอง ที่เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ วรพจน์ เพชรขุ้ม ได้เหรียญเงิน และสุริยา ปราสาทหินพิมาย ได้เหรียญทองแดง ครั้งล่าสุด ปี พ.ศ. 2551 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สมจิตร จงจอหอ ก็ได้ขึ้นแท่น รับเหรียญทอง และ มนัส บุญจำนงค์ ได้รับเหรียญเงิน ส่วนผลงานคว้านเหรียญล่าสุดมีขี้นในปี พ.ศ. 2555 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ร.ท. แก้ว พงษ์ประยูร คว้าเหรียญเงิน

จะเห็นว่าการพัฒนาวงการกีฬามวยสากล ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่การที่จะพัฒนาเข้าสู่ระดับเหรียญทองโอลิมปิค ประเทศที่มีชื่อเสียงมาก่อนดังเช่นในยุคของประเทศคิวบา ซึ่งเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของกีฬามวยสากลสมัครเล่น ได้เคยศึกษา เรียนรู้และพูดคุยกับ ดร.สกาล่าร์ฯ ประเทศคิวบาต้องใช้เวลาถึง 20 ปี เพื่อทำให้นักกีฬาสามารถนำเหรียญทองกลับประเทศได้ แต่ของประเทศไทยก่อนโอลิมปิคที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการเตรียมการกันอย่างเต็มที่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยในโอลิมปิคครั้งนั้น อาคม เฉ่งไล่ ก็สามารถนำเหรียญทองแดงนำกลับประเทศได้

โดยบทเรียนและการเรียนรู้จากโอลิมปิค ที่บาร์เซโลนานี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้ทีมงานของสมาคมฯ ตลอดจนผู้ฝึกสอนนักกีฬา ได้ทำงานกันอย่างหนัก และใช้เวลาเพียง 6 ปีในโอลิมปิคเกมส์ ครั้งต่อมา ในปี พ.ศ. 2539 ก็สามารถทำให้กีฬาในวงการมวยสมัครเล่นของเรา ประสบผลสำเร็จโดย สมรักษ์ คำสิงห์ คว้าเหรียญทองกลับมาประเทศได้และการที่สมาคมฯได้รับเหรียญทองของโอลิมปิคติดต่อกันถึง 4 สมัย รวมเหรียญที่ได้รับต่อเนื่องในโอลิมปิค 4 ครั้งท้ายสุด รวม 9 เหรียญ จากเหรียญโอลิมปิคทั้งหมดที่สมาคมได้รับ ๑๓ เหรียญ ล้วนเป็นหยาดเหงื่อ แรงกาย พลังความมุ่งมั่น ของนักกีฬา ผู้ฝึกสอน คณะกรรมการบริหาร ตลอดจนองค์การกีฬาภายในประเทศและผู้สนับสนุนทุกระดับ จนทำให้วงการกีฬาของเราเป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยเฉพาะวงการมวยสากลสมัครเล่นของไทยได้ก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับ 1 ใน 5ของโลก เป็นความภูมิใจของวงการกีฬาของเราที่ได้พัฒนางานการกีฬาและสามารถนำความสุขมาสู่พี่น้องประชาชนที่ได้เห็นลูกหลานมีโอกาสขึ้นไปทำหน้าที่แสดงความสามารถบนเวทีและมีส่วนร่วมในการชมและเชียร์และมีความสุขร่วมกันเมื่อได้เห็นลูกหลานประสพผลสำเร็จ ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของสมาคมฯ องค์กรกีฬาตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รับผิดชอบทั้งสิ้น